วัฒนธรรมการกินหมาก

การกินหมากเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยในอดีต เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความรัก ความสัมพันธ์อันดี ไมตรีจิตระหว่างบุคคล เป็นกิจกรรมที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยในอดีต จนทำให้เกิดการสร้างเครื่องใช้ในการกินหมาก และมีการประดิษฐ์ออกมาให้มีความสวยงามและประณีตแตกต่างกันไปตามฐานะและรสนิยมของผู้ใช้ นอกจากนี้เครื่องใช้ในการกินหมากยังเป็นเครื่องแสดงยศสำหรับขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย
หมากและการกินหมาก


 หมากเป็นพืชยืนต้นตระกูลเดียวกับปาล์ม ขึ้นได้ทั่วไปในพื้นที่เขตอบอุ่นและเขตร้อน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Areca catechy Linn. ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Betel nut, Arecanut หรือ Arecanut palm คาดว่ามีถิ่นกำเนิดในบริเวณแหลมมลายูและหมู่เกาะฟิลิปปินส์ หมากถือเป็นพืชสำคัญที่มีความเป็นมายาวนานในสังคมไทยจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการกินหมาก แม้ปัจจุบันวัฒนธรรมการกินหมากจะเสื่อมถอยลงแล้วก็ตาม
ในการกินหมากจะมีเครื่องกินหมากทั้งหมด 4 อย่าง คือ ผลหมาก ใบพลู ปูนแดง และยาเส้น บางครั้งอาจมีการใส่เครื่องหอมหรือเปลือกไม้อื่นเพิ่มเติม เช่น กานพลู การบูร พิมเสน เปลือกตะเคียน เปลือกสีเสียด


หมากที่คนไทยนิยมกัน มีดังนี้
1.หมากดิบ คือ หมากที่ยังไม่แก่
2.หมากส่ง คือ หมากที่แก่จัด
3.หมากอีแปะ คือหมากที่นำเนื้อในผลมาผ่าเป็นแผ่นบางๆ แล้วตากแห้งไว้
4.หมากยับ คือ หมากแก่จัดที่เก็บไว้ทั้งเปลือก ไว้กินยามที่หาหมากยาก
พลู ที่นิยมนำมาบริโภคมี 2 ชนิด คือ พลูค้างทองหลาง มีใบสีเขียวและมีรสเผ็ด มักปลูกทิ้งไว้บนต้นไม้อื่น และพลูจีนหรือพลูค้างไม้ ใบจะมีสีเหลืองขนาดใหญ่กว่าพลูค้างทองหลางและรสไม่ค่อยเผ็ด มักปลูกทิ้งไว้ให้เลื้อยบนไม้ที่พาดให้ นอกจากนี้ยังมีพลูนาบเป็นการนำพลูป่ามานาบด้วยความร้อนใช้กินยามขาดแคลน
ปูนแดง ทำมาจากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอยจนเป็นเถ้าแล้วนำมาบดเป็นผงกวนกับน้ำได้เป็นปูนขาว หลังจากนั้นนำปูนขาวมาผสมขมิ้น เมื่อกรดในปูนทำปฏิกิริยากับขมิ้นจะกลายเป็นสีแดง ทำให้ปูนมีความเป็นกรดลดลง


ยาเส้น มี 2 ชนิด คือยาจีนหรือยาฝอย กับยาฉุน หลังเคี้ยวหมากจะนำมาปั้นเป็นก้อน ใช้เช็ดหรือสีฟัน

เครื่องใช้ในการกินหมาก

เครื่องใช้ในการกินหมาก มีการประดิษฐ์ขึ้นหลายรูปแบบจากวัสดุหลากหลายประเภท อาทิ ไม้ เงิน นาก ทอง เครื่องเขิน เครื่องถม มีความประณีต งดงามแตกต่างกันไป สะท้อนถึงฐานะ รสนิยม และความพึงพอใจของผู้ใช้ เครื่องใช้ในการกินหมากประกอบด้วยของต่างๆ ดังนี้

1.เต้าปูน เป็นภาชนะที่ใส่ปูนหมาก มาพร้อมกับไม้ควักปูน
2.ซองพลู เป็นภาชนะสำหรับใส่พลูจีบ
3.ที่ใส่หมาก ใช้ใส่ทั้งหมากสดและหมากแห้ง นอกจากนี้ยังมีพวกตลับ ผอบต่างๆ ที่ใส่ยาเส้น กานพลู การบูร สีเสียด มักใช้ในชุดเชี่ยน 3 – 8 ใบ
4.มีดเจียนหมาก เป็นมีดขนาดเล็กใช้ผ่าหมากดิบและเจียนพลู
5.กรรไกรหนีบหมาก เป็นกรรไกรที่ใบมีดข้างหนึ่งใหญ่และคมกว่าอีกข้าง ใช้สำหรับผ่าลูกหมากและเนื้อหมาก
6.ตะบันหมาก มีลักษณะทรงกระบอกเรียวเล็กลงด้านปลาย ใช้ตำหมากพลูให้แหลก มาพร้อมกับสากตะบัน
7.กระโถน ใช้สำหรับบ้วนน้ำหมาก หรือคายชานหมากที่จืดแล้ว


บทบาทของการกินหมากในสังคมไทย


การกินหมาก ถือเป็นวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาเป็นเวลานาน จึงมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ประเพณี และเป็นสัญลักษณ์แทนคุณค่าต่างๆ ในวัฒนธรรมไทย ในแง่ต่างๆ ดังนี้

 


เป็นสัญลักษณ์แทนคุณค่า ความดีงาม และความงาม


 ในอดีต การมีฟันดำถือเป็นการสะท้อนถึงความงามอย่างหนึ่ง จนมีการกล่าวว่า “หมาน่ะ ที่มีฟันสีขาว” หรือ “ขอให้ฟันดำเหมือนลูกหว้า ขอให้ปัญญาเหมือนพระมโหสถ” จนมีค่านิยมที่จะทำให้ฟันดำเร็วขึ้น โดยการนำกะลามะพร้าวไปเผาบนเหล็กเผาไฟ แล้วนำมะนาวมาบีบใส่ เกิดเป็นยางดำ นำมาใช้ในลักษณะของยาสีฟัน  นอกจากนี้ การเจียนหมากจีบพลู ยังถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการบ่งบอกคุณค่าของกุลสตรีในอดีตที่ประกอบด้วย ปอกมะปรางริ้ว ละเลงขนมเบื้อง ปั้นขนมจีบ และจีบพลูยาว


เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี

 หมากพลู เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงไมตรีจิตที่ดีต่อกัน การกินหมากพลูร่วมกัน ทำให้เกิดความไว้วางใจกัน เมื่อมีแขกมาเยือนบ้านจะมีการเตรียมหมากและน้ำไว้ให้แขก   สำหรับหนุ่มสาวในอดีต การให้หมากแก่กันหรือการคายชานหมากให้กัน ถือเป็นการแสดงความรัก หรือการขอความรัก เช่น ในเรื่องอิเหนา ที่อิเหนาให้ทหารไปขอชานหมากและผ้าสไบของนางบุษบา
ในการแต่งงาน ฝ่ายชายจะมีการเตรียมขันหมาก พร้อมของอื่นๆ เป็นเครื่องคำนับและแสดงความเคารพต่อผู้ปกครองฝ่ายหญิง นอกจากนี้ในวันงานจะต้องเตรียมภาชนะใส่หมากให้สำหรับแขกที่มางานด้วย


เป็นการแสดงคุณงาม ความดี และเกียรติยศ


พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณจะมีการสร้างเครื่องยศขึ้นเพื่อแสดงเกียรติยศ และบำเหน็จความดีความชอบ แก่ราชตระกูลและข้าราชการ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่ง หน้าที่และยศ โดย Nicolas Gervaise ได้กล่าวถึงความสำคัญของเครื่องใช้ในการกินหมากต่อการแสดงยศของบุคคล ในหนังสือ Histoire Naturelle et Politique de Royaume du Siam ว่า “เราจะรู้จักความสำคัญของ ขุนนางเหล่านี้ในที่สาธารณะได้ ไม่เพียงจากหีบหมากพระราชทาน จากฐานะของเรือ จากดาบที่คาดเท่านั้น แต่ยังรู้ได้จากจำนวนทาสที่ติดหน้าตามหลังด้วย” จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หีบหมากเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงฐานะและความสำคัญของบุคคลนั้น ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศก็จะต้องนำไปด้วยเสมอเมื่อเข้าเฝ้า

 

ขอบคุณบทความจาก http://emuseum.treasury.go.th